นโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

บริษัท สายไฟฟ้าไทย-ยาซากิ จำกัด มีอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โดยยึดมั่นความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี โดยมีการบริหารกิจการบนพื้นฐานความโปร่งใส มีจริยธรรม ยึดมั่นในหลักการการกำกับและดูแลกิจการที่ดี และปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัท สายไฟฟ้าไทย-ยาซากิ จำกัด มีนโยบายกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท สายไฟฟ้าไทย-ยาซากิ จำกัด และเพื่อให้การตัดสินใจและการดำเนินการทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างได้รับการพิจารณาและปฏิบัติอย่างรอบคอบ บริษัท สายไฟฟ้าไทย-ยาซากิ จำกัด จึงได้จัดทำ “นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง” เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ (EN)

คำนิยาม
“บริษัท (EN)”

หมายความว่า บริษัท สายไฟฟ้าไทย-ยาซากิ จำกัด (EN)

“การทุจริตคอร์รัปชัน(EN)”

หมายความว่า การใช้อำนาจที่ได้มาหรือการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ของบริษัท ตนเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของผู้อื่น โดยรูปแบบของการคอร์รัปชันให้หมายรวมถึง การติดสินบน การมีผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างเอกชนกับหน่วยงานของรัฐ และระหว่างบุคคลหรือกิจการในเอกชนด้วยกันเอง(EN)

“การติดสินบน(EN)”

หมายความว่า การเสนอ การสัญญา หรือการมอบ รวมถึงการให้ การเรียกร้องหรือการรับผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีมูลค่า ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเอกสาร ข้อมูล เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งธุรกิจ หรือเพื่อรักษาผลประโยชน์อื่นใดอันไม่เหมาะสมตามหลักจรรยาบรรณทางธุรกิจ (EN)

“ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด(EN)”

หมายความว่า เงิน สิ่งของ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่ให้แก่กันเพื่ออัธยาศัยไมตรีที่ให้เป็นรางวัล หรือให้เป็นสินน้ำใจ การให้สิทธิพิเศษ ตลอดจนการออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือท่องเที่ยว ค่าที่พัก ค่าอาหาร หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และไม่ว่าจะให้เป็นบัตรตั๋วหรือหลักฐานอื่นใด(EN)

“การจัดซื้อจัดจ้าง(EN)”

หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า งานบริการ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษา และงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง รวมทั้งการดำเนินการใดๆ โดยการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน หรือโดยนิติกรรมอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนดภายใต้กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ(EN)

“หน่วยงานของรัฐ(EN)”

หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์กรมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานธุรการของศาล มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานสังกัดรัฐสภาหรือในกำกับของรัฐสภา หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นๆตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐกำหนด(EN)


แนวทางในการปฏิบัติงานตามนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

  • 1. คณะกรรมการของบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อนโยบายการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ

    2. คณะกรรมการของบริษัทได้กำหนดให้ ฝ่ายคอมพลายแอนซ์ (Compliance) ร่วมกับฝ่ายบริหารงานขาย (Sales Administration) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบ (“หน่วยงานกำกับดูแลฯ”) มีหน้าที่ดำเนินการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน และรายงานการประเมินความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน และเหตุการณ์การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในองค์กร ให้คณะกรรมการของบริษัทและผู้บริหารได้รับทราบ รวมถึงยังมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษา แนะนำ และสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันให้แก่ผู้บริหารและพนักงานในบริษัท

    3. ผู้บริหารมีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายหรือส่วนงานที่ตนรับผิดชอบตามสายบังคับบัญชา โดยมีการประเมินความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้มั่นใจว่าสายงานที่รับผิดชอบอยู่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย พร้อมกับร่วมหามาตรการเพื่อปิดความเสี่ยงดังกล่าว

    4. ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชาตามสายงาน มีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายให้เป็นไปตามแผนการตรวจสอบ พร้อมเสนอรายงานการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นในฝ่ายหรือส่วนงานที่รับผิดชอบต่อหน่วยงานกำกับดูแลฯ

    5. ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชาตามสายงาน จะต้องสื่อสารกับพนักงานให้ทราบอย่างทั่วถึง พร้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

    6. ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชาตามสายงาน และพนักงาน ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด ให้ยึดหลักจรรยาบรรณในการทำงาน โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ดังนี้    

                ก.  ไม่ให้ เสนอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือจูงใจให้ร่วมดำเนินการใดๆ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการให้ประโยชน์ในการเสนอราคา
                    หรือการสมยอมกันในการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ อันนำมาซึ่งความได้เปรียบและได้รับประโยชน์ตอบแทนบางประการในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการ
                    ปฏิบัติงานตามสัญญา ทั้งก่อนระหว่างการเสนอราคา และหลังการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง หรือเพื่อรักษาประโยชน์อื่นใดอันไม่เหมาะสมตามหลักจรรยาบรรณธุรกิจ

                ข.  การทุจริตในรูปแบบต่างๆ อันประกอบด้วย การช่วยเหลือทางการเมือง การบริจาคเพื่อการกุศล เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตน เงินสนันสนุนอันมีวัตถุประสงค์ที่
                    ก่อให้เกิดความได้เปรียบในทางธุรกิจของตน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจเป็นช่องทางให้บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกระทำการทุจริต หรือทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

    7. ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชาตามสายงาน พนักงานจะไม่ถูกลงโทษไม่ว่าจะเป็นการลดตำแหน่ง หรือผลลบใดๆ ในการปฏิเสธการคอร์รัปชัน แม้การกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม

    8. ผู้บริหาร พนักงาน ไม่เพิกเฉยหรือละเลย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยจะต้องแจ้งให้หน่วยงานกำกับดูแลฯ หรือผู้บังคับบัญชาตามสายงานทราบ พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

    9. ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง พนักงานทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

    10. การใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ และการใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามสัญญาทางธุรกิจสามารถทำได้ แต่ต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลไม่ส่อไปในทางทุจริต และสามารถตรวจสอบได้

    11. การบริจาคหรือสนับสนุนโครงการต่างๆ สามารถทำได้แต่ต้องกระทำในนามของบริษัทเท่านั้น โดยการบริจาคดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบโครงการหรือหน่วยงานการกุศล จะต้องเป็นโครงการ หรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือสามารถตรวจสอบได้ และการเบิกจ่ายต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนการเบิกจ่ายอย่างถูกต้องตามที่บริษัทกำหนด

    12. ผู้บริหาร พนักงาน ไม่กระทำการอันใดที่ทำให้บริษัท ถูกมองว่าเอนเอียงทางการเมือง กล่าวคือ บริษัทเป็นองค์กรที่ยึดมั่นในความเป็นกลางทางการเมือง สนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมาย และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข บริษัทไม่สนันสนุนพรรคการเมืองไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

    13. คณะกรรมการของบริษัท ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลฯ จะสอบทานแนวทางปฏิบัติและมาตรการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย และสภาพการดำเนินธุรกิจ  (EN)
การสื่อสารองค์กร

เพื่อให้ทุกคนในองค์กรและผู้ที่มีส่วนได้เสียได้รับทราบนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทจะดำเนินการเผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท เช่น เว็บไซต์ของบริษัท ระบบ Intranet สื่อโซเซียลมีเดียของบริษัท และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) (EN)

ช่องทางการรับแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชัน

ในกรณีที่พบเห็นการกระทำที่สงสัยได้ว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งทางตรงหรือทางอ้อม สามารถร้องเรียนผ่านช่องทางที่ได้กำหนดไว้ในนโยบายฉบับนี้ โดยผู้ร้องเรียนจะต้องระบุรายละเอียดของเรื่องที่แจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน พร้อมหลักฐานหรือข้อมูลที่เพียงพอต่อการตรวจสอบ และแจ้งชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ ส่งมายังหน่วยงานกำกับดูแลฯ ผ่านช่องทางรับเรื่อง ดังนี้ (EN)

ร้องเรียนผ่านโทรศัพท์เบอร์
02-653-2550 ext. 121 or 120
อีเมล์
บทกำหนดโทษ

ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างฉบับนี้ จะถูกพิจารณาลงโทษสูงสุดถึงขั้นเลิกจ้างตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการทำงานของบริษัท นอกจากนี้ ยังอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยบริษัทจะเป็นผู้พิจารณาบทลงโทษตามความเหมาะสม (EN)